เมื่อ 18 มกราคม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ร่วมกับคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีไทย-กัมพูชา เพื่อหารือการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับการดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. โดยมีผู้แทนจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมีนายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กรมการปกครอง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งผู้แทนจากมูลนิธิต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นเจ้าภาพในการประสานงาน และมีท่านโช บุน เฮือง ปลัดกระทรวงมหาดไทย/รองประธานคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายกัมพูชา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีโอกาสในการนำเสนอผลงานการดำเนินคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทยซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจกำกับติดตามและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่ในการติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้กล่าวขอบคุณทางการกัมพูชา ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการประสานความร่วมมือกันในการช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาได้มากกว่า 1,105 คน

นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้จะมีการร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนมาตรฐานในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งผู้แทนประเทศไทยและกัมพูชามีการลงนามร่วมกันไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการตามแผนการภายใน 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะมีขั้นตอนเกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการส่งกลับ และการส่งต่อพยานหลักฐานไปยังประเทศปลายทาง เพื่อใช้ในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้จะรวมไปถึงการฝึกอบรมและให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ความร่วมมือกันในการช่วยเหลือเหยื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น